อัพเดทล่าสุด: 5 เม.ย. 2024
177 ผู้เข้าชม
มะเร็งต่อมลูกหมาก
ต่อมลูกหมาก เป็นอวัยวะที่อยู่ค่อนมาทางด้านล่างระหว่างกระเพาะปัสสาวะกับลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ทำหน้าที่ผลิตน้ำเมือกและน้ำหล่อเลี้ยงตัวอสุจิ จึงถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจุบันแพทย์พบว่าอัตราการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากมีเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่
- อายุ ยิ่งอายุมากขึ้น โอกาสเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากก็ยิ่งสูงขึ้น ส่วนใหญ่จะพบมากในผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
- พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติบิดาหรือพี่น้องเคยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจะมีโอกาสเสี่ยงกว่าคนทั่วไป
- เชื้อชาติ พบมากในกลุ่มชายชาวตะวันตกทั้งในยุโรปและอเมริกา ขณะที่ชาวเอเชียพบได้น้อยกว่า
- อาหาร การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ให้พลังงานสูง และอาหารจำพวกเนื้อแดงอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้
---
อาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก
มะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกมักไม่แสดงอาการใดๆ แต่เมื่อมะเร็งขยายตัวมากขึ้นจนไปกดทับท่อปัสสาวะ จะทำให้เกิดอาการแปรปรวนของระบบทางเดินกระเพาะปัสสาวะส่วนล่าง เช่น ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะช่วงกลางคืน มีอาการแสบขัดขณะปัสสาวะ ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะไม่พุ่งหรือต้องใช้เวลาในการเบ่ง หากปล่อยทิ้งไว้ผู้ป่วยจะปัสสาวะลำบากและบ่อยขึ้น จนถึงขั้นปัสสาวะเป็นเลือดได้
---
การตรวจวินิจฉัย
หากมีอาการที่เข้าข่ายของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แพทย์จะทำการตรวจร่างกายและตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัยดังต่อไปนี้ คือ
- การตรวจทางทวารหนักเพื่อคลำหาก้อนมะเร็ง (digital rectal examination หรือ DRE) โดยแพทย์จะใช้นิ้วสอดเข้าทางทวารหนัก เพื่อตรวจคลำขนาดรูปร่างและความยืดหยุ่นของต่อมลูกหมาก
- การเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง PSA (prostatic-specific antigen) ซึ่งสารชนิดนี้จะถูกผลิตขึ้นมามากกว่าปกติในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
- การตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
- การตรวจอัลตราซาวนด์ต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก ( transrectal ultrasound: TRUS) เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียง ซึ่งแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดเข้าทางทวารหนักไปยังตำแหน่งของต่อมลูกหมาก จากนั้นจะใช้เข็มขนาดเล็กดูดเซลล์ต่อมลูกหมาก 12 ตัวอย่างจาก 12 ตำแหน่ง ออกมาตรวจทางพยาธิวิทยา
- MRI/Ultrasound Fusion Biopsy เป็นเทคโนโลยีการสร้างภาพสามมิติพร้อมการทำอัลตราซาวนด์แบบ real-time ที่ช่วยให้แพทย์เห็นรายละเอียดและตำแหน่งของก้อนมะเร็งในต่อมลูกหมากได้อย่างชัดเจน ทำให้สามารถกำหนดบริเวณที่จะตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจได้อย่างแม่นยำโดยไม่ต้องสุ่มตรวจ
---
ระยะของมะเร็งต่อมลูกหมาก
ระยะของมะเร็งกำหนดจากตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง การแพร่กระจายของมะเร็ง และการทำงานที่ผิดปกติของอวัยวะร่างกาย ระยะของมะเร็งมีความสำคัญต่อการรักษาเพราะจะช่วยให้แพทย์หาวิธีการรักษาที่เหมาะสม ส่งผลต่อการหายของโรค การมีชีวิตที่ยืนยาวหรือดำรงชีวิตได้ดีขึ้น
มะเร็งต่อมลูกหมากแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่
- ระยะที่ 1: เป็นระยะเริ่มต้น พบมะเร็งเฉพาะในต่อมลูกหมากเพียงกลีบเดียว และยังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
- ระยะที่ 2: ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อย โดยพบทั้งสองกลีบของต่อมลูกหมาก ยังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
- ระยะที่ 3: เซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายออกมาที่ผิวด้านนอกของต่อมลูกหมาก และอาจลุกลามเข้าท่อน้ำเชื้อด้านข้าง
- ระยะที่ 4: เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังกระดูกและต่อมน้ำเหลือง
---
ทางเลือกในการรักษา
ข้อบ่งชี้ของทางเลือกในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก ได้แก่ ตำแหน่ง ขนาด ระยะของเซลล์มะเร็ง สภาพร่างกายและจิตใจ รวมถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยภายหลังการรักษา โดยปัจจุบันผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษาดังต่อไปนี้
การผ่าตัด แบ่งออกได้เป็น 2 วิธี คือ
- การผ่าตัดโดยใช้วิธีส่องกล้อง (laparoscopic radical prostatectomy) เป็นการผ่าตัดที่พัฒนามาจากการผ่าตัดเปิดหน้าท้องแบบเดิม ด้วยวิธีนี้ แพทย์จะสอดกล้องขนาดจิ๋วที่เรียกว่า laparoscope และเครื่องมือต่างๆ ผ่านแผลผ่าตัดขนาดเล็กห้าจุดบริเวณใต้สะดือแล้วทำการผ่าตัดผ่านจอมอนิเตอร์ ผลคือผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลง ฟื้นตัวเร็วขึ้น เกิดผลข้างเคียงน้อยกว่า และผลการรักษาดีกว่าการผ่าตัดใหญ่แบบเปิดหน้าท้อง
- การผ่าตัดโดยใช้แขนกลช่วยผ่าตัด (roboticassisted da Vinci surgery หรือ da Vinci® prostatectomy) เป็นการผ่าตัดโดยใช้แขนกลหุ่นยนต์ที่ควบคุมโดยแพทย์ ซึ่งไม่เพียงช่วยให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลง และฟื้นตัวเร็วขึ้นเช่นเดียวกับการผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้องเท่านั้น แต่ยังเพิ่มโอกาสที่ผู้ป่วยจะสามารถควบคุมการกลั้นปัสสาวะ และคงความสามารถในการแข็งตัวของอวัยวะเพศไว้ได้
- รังสีรักษา ซึ่งมีทั้งการฝังแร่ต่อมลูกหมาก และการฉายรังสีขึ้นอยู่กับผู้ป่วยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงปานกลาง หรือความเสี่ยงสูง
- การให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งปัจจุบันให้ผลการรักษาที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันแพทย์ก็มีวิธีบรรเทาอาการไม่พึงประสงค์ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากยาให้ลดน้อยลงได้
- การรักษาด้วยฮอร์โมน เป็นการรักษาเพิ่มเติมหลังการผ่าตัด หรือในกรณีที่มะเร็งอยู่ในระยะแพร่กระจาย โดยแพทย์จะทำการลดหรือกำจัดฮอร์โมนเพศชายด้วยการใช้ยาต้านฮอร์โมน หรือผ่าตัดเอาอัณฑะออก
ที่มา : โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์