มะเร็งเม็ดเลือดขาว
มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลูคีเมีย (Leukemia) เป็นโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นใน ไขกระดูก เกิดจากมีเซลล์เม็ดเลือดขาวตัวอ่อนแบ่งตัวมากผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ การแบ่งตัวอย่างไม่หยุดของเซลล์เหล่านี้ ไปรบกวนการสร้างเม็ดเลือดปกติชนิดอื่นของไขกระดูก ทำให้เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวปกติ และเกล็ดเลือดลดลง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจาง มีเลือดออกผิดปกติ มีจ้ำเลือดตามร่างกาย ติดเชื้อง่าย นอกจากนี้เซลล์มะเร็งยังสามารถไปสะสมตามอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง ทำให้ผู้ป่วยมีต่อมน้ำเหลือง ตับ ม้ามโต
มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน จัดเป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงสูง พบได้ทุกเพศทุกวัย แต่จะพบได้มากขึ้นในผู้สูงอายุ และเป็นมะเร็งที่ติด 1 ใน 10 อันดับโรคมะเร็งที่พบบ่อยในประเทศไทย
---
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว
ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรค แต่ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ก็ส่งผลต่อการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้
- การได้รับรังสีขนาดสูง เช่น รังสีนิวเคลียร์
- การรับเคมีบำบัด เกิดจากการรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ ด้วยตัวยาเคมี เนื่องจากยาเคมีบำบัดบางกลุ่มอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้
- การสัมผัสกับสารเคมีในสิ่งแวดล้อม เช่น สารเคมีในกลุ่มพวกเบนซีน และยาฆ่าแมลงบางชนิด
- โรคทางพันธุกรรม เช่น โรคดาวน์ซินโดรม
- อายุ ยิ่งอายุมากขึ้น โอกาสเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวก็ยิ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
- ผู้ป่วยโรคไขกระดูกเสื่อม (Myelodysplastic syndrome, MDS)
---
อาการของมะเร็งเม็ดเลือดขาว
เนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติไปรบกวนการสร้างเม็ดเลือดชนิดต่างๆ ทำให้เกิดอาการดังนี้
- เม็ดเลือดแดงลดลง ผู้ป่วยอาจมีอาการจากภาวะโลหิตจาง เช่น เหนื่อยง่าย ใจสั่น วิงเวียนศีรษะ
- เม็ดเลือดขาวลดลง ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- เกล็ดเลือดลดลง ทำให้มีภาวะเลือดออกง่ายกว่าปกติ อาจพบจุดเลือดออกหรือจ้ำเลือดตามตัว รวมถึงภาวะเลือดหยุดยา
- นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด คลำพบก้อนตามตัวหรือปวดกระดูกได้
---
การวินิจฉัยมะเร็งเม็ดเลือดขาว
การเจาะเลือดตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (complete blood count, CBC) อาจพบฮีโมโกลบินต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ จำนวนเม็ดเลือดขาวสูงหรือต่ำกว่าปกติก็ได้ และอาจพบเม็ดเลือดขาวตัวอ่อนได้ แพทย์จะตรวจยืนยันการวินิจฉัย โดยการตรวจไขกระดูก เพื่อนับจำนวนเซลล์ตัวอ่อน ส่งตรวจพิเศษเพื่อแยกชนิดของเซลล์ myeloid และ lymphoid รวมถึงส่งตรวจโครโมโซมเพื่อการพยากรณ์โรค
การเจาะไขกระดูก เป็นการตรวจที่จำเป็นในการวินิจฉัยมะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยแพทย์จะใช้เข็มดูดและตัดชิ้นเนื้อบริเวณหลังกระดูกสะโพกหรือหลังกระดูกเชิงกราน (ไม่ใช่การเจาะน้ำไขสันหลัง) ระยะเวลาในการเจาะประมาณ 10-15 นาที และไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
---
การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว
ทีมแพทย์จะประเมินชนิดของโรค อายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ก่อนแนะนำวิธีรักษาที่เหมาะสม ซึ่งได้แก่
- เคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการรักษาหลักสำหรับมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน โดยยาจะไปทำลายเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ไขกระดูกสามารถสร้างเม็ดเลือดปกติขึ้นมาใหม่ เคมีบำบัดมีทั้งชนิดกิน ฉีดเข้าหลอดเลือดดำและฉีดเข้าน้ำไขสันหลัง ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันมักต้องใช้เคมีบำบัดร่วมกันหลายชนิด โดยแพทย์จะพิจารณาตามชนิดและความรุนแรงของโรค รวมถึงความแข็งแรงของผู้ป่วยด้วย เพราะเคมีบำบัดจะมีผลข้างเคียงต่อเซลล์อื่นๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะเซลล์ที่แบ่งตัวอย่างรวดเร็ว เช่น เยื่อบุทางเดินอาหาร เซลล์ในไขกระดูก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปาก ถ่ายเหลว โลหิตจาง เม็ดเลือดขาวต่ำหรือเกล็ดเลือดต่ำ ดังนั้นในระหว่างการรักษา ผู้ป่วยอาจต้องได้เลือดและเกล็ดเลือด รวมถึงยารักษาตามอาการเพื่อลดผลข้างเคียง เช่น ยาแก้อาเจียน ยากระตุ้นเม็ดเลือดขาว เป็นต้น
- การรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted therapy) เป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง โดยไม่ทำลายเซลล์ปกติ เช่น ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส (Tyrosine kinase inhibitor) ที่ใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดมัยอีลอยด์ (Chronic myeloid leukemia)
- การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell transplantation) แพทย์จะนำเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดหรือไขกระดูกของตัวผู้ป่วยเอง (Autologous transplantation) ญาติพี่น้องหรือผู้บริจาค (Allogeneic transplantation) ที่เข้ากันได้ มาปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยหลังจากได้รักษาจนโรคอยู่ในระยะสงบเพื่อลดโอกาสกลับเป็นซ้ำ
---
การติดตามผลการรักษาและการดูแลตัวเอง
หลังรักษาจนโรคอยู่ในระยะสงบแล้ว แพทย์จะนัดตรวจอาการและเจาะเลือดทุก 1-2 เดือนในช่วงปีแรก ถ้าผลตรวจปกติ จะนัดติดตามทุก 3-6 เดือนอย่างน้อย 5 ปี จึงจะถือว่าหายขาดจากโรค เพราะโอกาสกลับเป็นซ้ำจะลดลงเมื่อเวลานานขึ้น
---
การดูแลตนเองของผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว
- ดูแลสุขอนามัย และความสะอาด โดยเฉพาะในช่องปากและฟัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ไม่ควรอยู่ในที่แออัด หรือการระบายอากาศไม่ดี เพื่อลดโอกาสติดเชื้อทางเดินหายใจ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และปรุงสุกด้วยความร้อน ล้างผักให้สะอาด ปอกเปลือกผลไม้ เพื่อลดโอกาสติดเชื้อทางเดินอาหาร
- ดื่มน้ำสะอาดมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าเครียด
ที่มา :โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์