share

มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

Last updated: 5 Apr 2024
20 Views
มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นส่วนหนึ่งของระบบทางเดินอาหารมีลักษณะเป็นท่อยาว มีผนังประกอบด้วยกล้ามเนื้อมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-8 เซนติเมตร ความยาวประมาณ 6 ฟุตมีหน้าที่ดูดซึมนํ้าจากอาหารที่รับประทานเข้าไป และยังเป็นที่เก็บกากอาหารก่อนที่จะขับถ่ายออกจากร่างกายทางทวารหนัก

มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นโรคที่เกิดจากการผิดปกติของเซลล์ที่แบ่งตัวต่อเนื่อง โดยไม่สามารถควบคุมได้จนกลายเป็นก้อนขนาดใหญ่ เรียกว่า เนื้องอกมะเร็ง เมื่อมะเร็งเข้าสู่กระแสเลือดหรือทางเดินนํ้าเหลืองและไปปรากฏยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายเรียกว่า มะเร็งแพร่กระจาย (Metastasis)

มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นเซลล์มะเร็งของเนื้อเยื่อลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ซึ่งชนิดที่พบบ่อยมากที่สุด เกิดจากเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้มีการเปลี่ยนแปลงและเจริญเติบโตผิดปกติ กลายเป็นติ่งเนื้อเล็กๆ เรียกว่า โพลิพ (Polyp) จากนั้นติ่งเนื้อ จะใช้เวลาหนึ่งในการพัฒนากลายเป็นมะเร็ง การตัดติ่งเนื้องอก (Polyp) ออก สามารถป้องกันไม่ให้ติ่งเนื้อพัฒนากลายเป็นมะเร็งได้ มะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ไม่ได้รับการรักษาอาจลุกลามทะลุผนังลำไส้หรือแพร่กระจายต่อไปยังตับ ปอด เยื่อบุช่องท้อง สมอง หรือกระดูกได้

---

อาการที่บ่งบอกว่างคุณอาจเป็นโรค "มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก"

  • พฤติกรรมในการขับถ่ายอุจจาระ พฤติกรรมในการขับถ่ายอุจจาระเปลี่ยนแปลงไปจากปกติของบุคคลโดยอาจจะถ่ายบ่อยครั้งขึ้น หรือท้องผูกมากขึ้น นอกจากนี้จะมีถ่ายไม่สุดหรือปวดเบ่งได้
  • มีอาการท้องเสียสลับกับท้องผูก
  • มีเลือดสดๆ หรือเลือดแดงคลํ้าปนออกมากับอุจจาระ
  • อุจจาระมีลักษณะผิดปกติจากเดิม ลักษณะก้อนเปลี่ยนเป็นเส้นแบนคล้ายตังเม
  • มีท้องอืด ปวดท้องแน่นท้อง จุกเสียด มีลมในลำไส้มาก(Abdominal Discomfort)
  • นํ้าหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • เหนื่อย อ่อนเพลียไม่สามารถทำงานที่เคยทำตามปกติได้

* ถ้ามีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายหาสาเหตุของอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อไป

---

การตรวจคัดกรอง

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก คือ การตรวจในประชาชนทั่วไปที่ไม่มีอาการที่ชวนสงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะตรวจหาโรคมะเร็งในระยะเริ่มต้น เพื่อลดอัตราการเสียชีวติ จากโรคมะเร็ง ตั้งแต่การตรวจคัดกรอง

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก สามารถตรวจได้หลายวิธี ดังนี้

1. การตรวจอุจาจะ (Stool-based Test) สามารถตรวจได้ 2 วิธี ได้แก่

  • A. การตรวจหาเลือดในอุจจาระ (Fecal Occult Blood Test: FOBT)
    การตรวจอุจจาระเพื่อหาเม็ดเลือดแดงที่อาจมีแอบซ่อนอยู่ หรือเป็นการตรวจหาเลือด ปริมาณน้อยๆ ที่ปนอยู่ในอุจจาระ (Occult Blood) ซึ่งมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า
    B. การตรวจหาดีเอ็นเอของเซลล์มะเร็งหรือติ่งเนื้อ (Fecal DNA Testing)
    เนื้องอกลำไส้ใหญ่จะมีการหลุดลอก ทำให้สามารถตรวจพบดีเอ็นเอที่ผิดปกติในอุจจาระได้การตรวจด้วยภาพ

2. การตรวจด้วยภาพ

  • A. การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วยภาพเสมือนจริง (Computed tomographic (CT) Colonography)
    เป็นเทคนิคการตรวจที่ทันสมัย ทำได้โดยการใส่ลมเข้าไปในลำไส้ใหญ่ ทำให้ลำไส้ขยายเห็นรายละเอียดมากที่สุดเท่าที่ทำได้ แล้วเอกซ์เรย์ภาพในลักษณะภาพตัดขวาง จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาสร้างภาพสามมิติให้เป็นภาพเสมือนจริงของลักษณะภายในลำไส้ใหญ่เพื่อใช้ดูความผิดปกติ เช่น ติ่งเนื้อ (Polyp) รอยโรคอื่นๆ ที่ปรากฎในลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
  • B. การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Flexible Sigmoidoscopy)
    การใส่กล้องเข้าไปทางทวารหนักเพื่อตรวจความผิดปกติของลำไส้ตรง (Rectum) และลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Flexible Colon) ถ้าเห็นรอยโรค วิธีการนี้สามารถตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจสอบต่อได้
  • C. การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)
    เป็นการส่องกล้องเข้าไปทางทวารหนัก เพื่อให้เห็นภาพภายในลำไส้ตรงและลำไส้ใหญ่ทั้งหมดวิธีนี้สามารถตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้ เป็นวิธีการตรวจที่มีความแม่นยำมากที่สุด

---

ระยะของโรคและวิธีการรักษา

ระยะ 1

  • ลักษณะของโรค: ก้อนมะเร็งเติบโตขึ้นมากกว่าระยะศูนย์และฝังในชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยไม่กระจายไปสู่เนื้อเยื่อข้างเคียงหรือต่อมนํ้าเหลืองไม่ทะลุชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้ใหญ่
  • การรักษา: ผ่าตัดเอาลำไส้ส่วนที่เป็นมะเร็งออก

ระยะ 2

  • ลักษณะของโรค:ก้อนมะเร็งกระจายออกมาสู่ผนังลำไส้ใหญ่และทวารหนักส่วนนอกหรือเนื้อเยื่อใกล้เคียง แต่ยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมนํ้าเหลือง
  • การรักษา: ผ่าตัดลำไส้ส่วนที่เป็นมะเร็งออก บางรายอาจต้องให้เคมีบำบัดหลังผ่าตัดร่วมด้วย ในมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลายจะมีการให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสงก่อนหรือหลังผ่าตัด

ระยะ 3

  • ลักษณะของโรค: มะเร็งแพร่กระจายออกจากลำไส้เข้าไปยังต่อมนํ้าเหลืองที่อยู่บริเวณรอบๆ ลำไส้ใหญ่ แต่ยังไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น
  • การรักษา: ผ่าตัดเอาลำไส้ส่วนที่เป็นมะเร็งออก ร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดหลังผ่าตัดในมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลายจะมีการให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสงก่อนหรือหลังผ่าตัด

ระยะ 4

  • ลักษณะของโรค: มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกายส่วนใหญ่มักกระจายไปสู่ตับและปอด
  • การรักษา: ให้ยาเคมีบำบัด และพิจารณาใช้ยามุ่งเป้าร่วมด้วยเพื่อประสิทธิภาพในการรักษาที่ดี ในผู้ป่วยบางรายอาจมีการผ่าตัดร่วมด้วย

---

แนวทางการรักษา

การผ่าตัด (Surgery)

จุดมุ่งหมายหลัก เพื่อเอาก้อนมะเร็งออกจากร่างกายไป ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดเอาลำไส้ที่เป็นมะเร็งออก พร้อมต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง หลังจากนั้นแพทย์จะทำการต่อลำไส้ส่วนที่เหลือเข้าด้วยกันใหม่ ถ้าไม่สามารถต่อลำไส้ส่วนที่เหลือเข้าด้วยกันอาจจะเปิดลำไส้ใหญ่ออกทางผนังหน้าท้อง เพื่อขับถ่าย อุจจาระเป็นการชั่วคราวหรือแบบถาวร

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะของผู้ป่วยและก้อนมะเร็งมีการลุกลามไปมากน้อยแค่ไหน การเปิดลำไส้ใหญ่ออกทางผนังหน้าท้องเป็นการเปลี่ยนทิศทางของทางเดินอาหารที่ถูกขับถ่ายออกจากร่างกาย การเปิดลำไส้ใหญ่ออกทางหน้าท้องนี้เรียกว่า ทวารเทียม (Colostomy)

การฉายแสง (Radiation Therapy)

เป็นการใช้รังสีพลังงานสูงในการกำจัดเซลล์มะเร็งปกติจะใช้การฉายแสงในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ก่อนการผ่าตัด เพื่อลดขนาดก้อนมะเร็งทำให้การผ่าตัดง่ายขึ้นหลังการผ่าตัด เพื่อไปทำลายเซลล์มะเร็งที่ยังคงเหลืออยู่ และลดอัตราการกลับเป็นซํ้า นิยมให้เคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสง เพื่อทำให้การรักษาดีขึ้น

ปัจจุบันพบว่า การฉายแสงร่วมกับเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย สามารถลดการเกิดโรคขึ้นมาใหม่ และลดอัตราการผ่าตัดเอาลำไส้ใหญ่มาเปิดไว้ที่หน้าท้อง

เคมีบำบัด (Chemotherapy)

ปัจจุบันพบว่า การฉายแสงร่วมกับเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย สามารถลดการเกิดโรคขึ้นมาใหม่ และลดอัตราการผ่าตัดเอาลำไส้ใหญ่มาเปิดไว้ที่หน้าท้องในผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งขนาดใหญ่มาก หรือมีมะเร็งแพร่กระจายสู่ต่อมนํ้าเหลือง

ผู้ป่วยมักจะต้องได้รับยาเคมีบำบัดหลังผ่าตัด เรียกว่า การรักษาเสริมหลังการผ่าตัดเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่ยังหลงเหลืออยู่ กรณีนี้เป็นการรักษาเพื่อลดโอกาสของการกลับมาเป็นมะเร็งซํ้า รวมถึงช่วยเพิ่มอัตราการอยู่รอดของผู้ป่วย เรียกการรักษาแบบนี้ว่า การรักษาแบบหวังผลหายขาด

นอกจากนี้ยาเคมีบำบัดยังใช้ในการรักษาหลักในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะแพร่กระจายหรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับการผ่าตัดได้ การใช้ยาเคมีบำบัดจึงใช้เพื่อหยุดการกระจายตัวของมะเร็งไม่ให้ลุกลามต่อ รวมทั้งบรรเทาอาการหรือความทรมานจากมะเร็ง เพื่อให้คุณภาพในการดำเนินชีวิตดีที่สุดและเพิ่มอัตราการอยู่รอดของผู้ป่วยได้นานขึ้น เรียกการรักษาแบบนี้ว่า การรักษาแบบประคับประคอง

การบริหารยาเคมีบำบัดมี 2 วิธี

ชนิดฉีดเข้าหลอดเลือด (Intravenous Chemotherapy)

1. การให้ยาเคมีบำบัดแบบฉีด

เป็นวิธีการรักษามาตรฐานในการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดในปัจจุบัน ปกติแล้วการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดจะใช้ยามากกว่าหนึ่งชนิดขึ้นไปร่วมกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษาการให้ยาจะให้เป็นรอบๆ โดยแต่ละรอบของการรักษา จะมีระยะพักโดยระยะพักและจำนวนรอบจะขึ้นอยู่กับสูตรยาเคมีบำบัดที่ใช้ ส่วนการใช้ยาสูตรใดนั้นแพทย์จะเป็นผู้พิจารณา เพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนมากที่สุด

2. ชนิดรับประทาน (Oral Chemotherapy)

มีประสิทธิภาพในการรักษาไม่แตกต่างจากยาเคมีบำบัดแบบฉีด ซึ่งเป็นรูปแบบยาเคมีบำบัดที่พัฒนาขึ้นมาช่วยเพิ่มความสะดวกต่อการรักษาให้กับผู้ป่วย ผู้ดูแล แลtครอบครัว สามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ เพราะในบางครั้งการให้ยาเคมีบำบัดแบบฉีดอาจส่งผลก่อให้เกิดการเจ็บปวดต่อผู้ป่วยและเสียเวลาการให้ยาโดยที่ผู้ดูแลและครอบครัวต้องคอยดูแลที่โรงพยาบาล

การใช้ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy)

เป็นการรักษาใหม่เพื่อยับยั้งมะเร็งโดยตรงเป้าหมาย เช่นยายับยั้งกระบวนการสร้างเส้นเลือดใหม่ (Anti-Angiogenesis Therapy) และยายับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็ง (Anti-epidermal growth factor receptor) เป็นต้น

การใช้ยากลุ่มนี้มักให้ร่วมกับการให้เคมีบำบัด เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการรักษามากขึ้น โดยพบว่าสามารถช่วยยืดระยะเวลาของการมีชีวิตอยู่ ช่วยระยะเวลาของการอยู่โดยปราศจากโรค และเพิ่มอัตราการตอบสนองของก้อนมะเร็งได้มากกว่าการให้การรักษาด้วยเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้แนะนำว่าผู้ป่วยคนใดจะเหมาะสมกับยาชนิดไหน

สิ่งสำคัญที่ต้องทราบคือ การเลือกยาในการรักษามะเร็งนั้น อาจมีความแตกต่างกันในคนไข้แต่ละคน เพราะถึงแม้ว่าคนไข้จะเป็นมะเร็งชนิดเดียวกัน แต่ลักษณะการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็งอาจมีความแตกต่างกัน ดังนั้นการตรวจหาการกลายพันธุ์ในเซลล์มะเร็งของคนไข้ด้วย การตรวจยีนมะเร็งอย่างครอบคลุม (Comprehensive Genomic Profiling) จะช่วยให้แพทย์และคนไข้สามารถร่วมกันวางแผนการรักษาและเลือกยาที่เหมาะสมที่สุดกับคนไข้ได้อย่างเหมาะสม

---

อาการข้างเคียงจากการรักษา

สำหรับอาการข้างเคียงที่สามารถพบได้บ่อยจากยามุ่งเป้า มีดังนี้

  • ยายับยั้งกระบวนการสร้างเส้นเลือดใหม่ เช่น ความดันโลหิตสูง ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เลือดออกง่าย แผลแยกไม่ติดกระเพาะอาหารและลำไส้ทะลุ การมีโปรตีนในปัสสาวะ เป็นต้น
  • ยายับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็ง เช่น ท้องเสีย ผื่น ผิวแห้ง ลอก ผิวไวต่อแสงแดด เป็นต้น

---

การติดตามผลการรักษา

ผู้ป่วยหลังการรักษา จะได้รับการติดตามโดยแพทย์ผู้รักษา เพื่อดูแลสุขภาพต่อไป การตรวจติดตามผล โดยปกติแล้วหลังผ่าตัดผู้ป่วยจะพบแพทย์ 3-6 เดือน ในช่วง 2 ปีแรกและทุก 6 เดือน ไปจนถึง 5 ปี การตรวจตามผลจะใช้การตรวจร่างกาย ตรวจเลือดเพื่อหาสารติดตามผลมะเร็ง และอื่นๆ เช่น การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ และการตรวจวินิจฉัยทางรังสี ซึ่งแพทย์จะพิจารณาระยะเวลาตามความเหมาะสม

ที่มา :
1. National Cancer Institute by NIH. Colorectal Cancer for Patient. Available at: https://www.cancer.gov/types/colorectal. Last accessed November 2018

2. The National Comprehensive Cancer Network, Inc. NCCN Guidelines for Patients® Colon Cancer Version 1.2017. Available at: https://www.nccn.org/patients/guidelines/cancers.aspx Last accessed November 2018

3. The National Comprehensive Cancer Network, Inc. NCCN Guidelines for Colorectal Cancer Screening Version 1.2018. Available at: https://www.nccn.org/professionals/physician_gls/pdf/colorectal_screening.pdf Last accessed November 2018

4. American Cancer Society. About Colorectal Cancer. Available at:https://www.cancer.org/cancer/colon-rectal-cancer/about/what-is-colorectal-cancer.html. Last accessed November 2018

5. Cancer Research UK. Bowel Cancer. Available at: https://www.cancerresearchuk.org/about-cancer/bowel-cancer. Last accessed November 2018

6.Heim D et al. Int J Cancer 2014; 135: 23622369

7.Baumgart M et al. Am J Hematol Oncol 2015: 11: 1013

8.Schwaederle M, Kurzrock R. Oncoscience 2015; 2: 779780.








บทความที่เกี่ยวข้อง
มะเร็งระบบทางเดินปัสสาวะ และอวัยวะสืบพันธ์ุชาย
มะเร็งระบบทางเดินปัสสาวะ และอวัยวะสืบพันธ์ุชาย ระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์ชาย ประกอบด้วยไต, กรวยไต, ท่อไต, กระเพาะปัสสาวะ, ต่อมลูกหมาก, อวัยวะเพศชายหรือองคชาติ, ลูกอัณฑะ, ถุงอัณฑะ
มะเร็งและเนื้องอกในระบบประสาท
มะเร็งและเนื้องอกในระบบประสาท เป็นโรคที่เกิดจากการแบ่งตัวรวดเร็วผิดปกติของเซลล์อื่นๆ ในระบบประสาท เช่น เนื้องอกจากเซลล์ประสาท เนื้องอกจากเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง เนื้องอกจาก ต่อมต่าง ๆ ในสมอง เนื้องอกจากเซลล์ปลอกประสาท เป็นต้น
มะเร็งต่อมลูกหมาก
มะเร็งต่อมลูกหมาก โรคมะเร็งที่พบมากในผู้ชาย อาการที่แสดงออกของมะเร็งต่อมลูกหมากคือปัสสาวะไม่พุ่งหรือปัสสาวะบ่อย แต่บางคนก็อาจไม่แสดงอาการใดเลยในระยะแรกเริ่มของโรค
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ