จากสถิติของสถาบันวิจัยมะเร็งแห่งโลกพบว่า มากกว่าร้อยละ 50 ของผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็ง เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักขาดความเข้าใจและไม่ได้ตระหนักถึงอันตรายของสารก่อ มะเร็งที่อาจปนเปื้อนมาในอาหาร Better Health จึงรวบรวมประเภทของอาหารที่อาจก่อความเสี่ยงต่อการ เกิดมะเร็งมาไว้ ดังนี้
สารก่อมะเร็งที่พบในอาหารประเภทปิ้ง ย่าง และรมควันนั้น มีชื่อว่าสารพีเอเอช (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon - PAH) ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ของไขมันในเนื้อสัตว์ ที่หยดลงไปโดนถ่านไฟ จนทำให้เกิดเป็นควันที่มีพิษเป็นสารก่อมะเร็งและลอยกลับขึ้นมาจับที่เนื้อสัตว์บนเตา หากรับประทานเข้าไปในปริมาณมากก็จะเกิดการสะสมในร่างกาย จนเป็น สาเหตุของโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะอาหารได้
นอกจากนี้ สำนักงานอาหารแห่งประเทศสวีเดนยังทำการวิจัยพบว่า อาหารที่ถูกทอดหรืออบด้วยความร้อนสูง เช่น มันฝรั่งทอด ขนมปังกรอบและบิสกิตนั้นมีสารอะคริลาไมด์ (Acrylamide) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งประกอบอยู่ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่ทอดในน้ำมันที่ถูกใช้ปรุงอาหารเกินสองครั้งนั้นพบว่า มีสารก่อมะเร็งที่เกิดจากการแตกตัวของน้ำมันที่เสื่อมสภาพ ซึ่งหากบริโภคติดต่อกันก็อาจเข้าไปสะสมในร่างกายและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร ขณะที่ผู้ปรุงอาหารซึ่งสูดดมไอของน้ำมันเข้าไปก็มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ไขมันที่พบมากในสัตว์เนื้อสีแดง เช่น เนื้อวัว หรือเนื้อหมูนั้นเป็นไขมันอิ่มตัว ที่ยังพบมากในไข่แดง นม และผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนย ชีส และโยเกิร์ต เป็นต้น รวมถึงน้ำมันที่ได้จากพืชบางชนิด เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันแปรรูป เช่น มาการีน เนยขาว ซึ่งนอกจากจะทำให้ร่างกายผลิตคลอเรสเตอรอลมากขึ้น จนเป็นสาเหตุของภาวะหลอดเลือดตีบแล้ว ไขมันประเภทนี้ยังมีส่วนเชื่อมโยงต่อการก่อตัวของมะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมากอีกด้วย โดยเฉพาะเมื่ออาหารประเภทนี้ถูกนำไปปรุงในอุณหภูมิที่ร้อนจัดก็จะก่อให้เกิดสารก่อมะเร็งที่มีชื่อว่าเอชซีเอ (Heterocyclic Amine - HCA)
โดยทั่วไปแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อเค็ม กุนเชียง ไส้กรอก เบคอน มักจะมี "ดินประสิว" ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า "โปแทสเซียมไนเตรต" เป็นส่วนประกอบในอาหาร เพราะสารดังกล่าวนี้ จะช่วยคงสภาพให้เนื้อสัตว์มีสีแดงดูน่ารับประทานได้นานกว่าปกติ และมีคุณสมบัติเป็นสารกันบูดเช่นเดียวกับสารกันบูดประเภทไนไตรต์ และโซเดียมไนเตรต ซึ่งจะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่มักเกิดในอาหารที่ได้รับการบรรจุอยู่ในภาชนะที่ปิดสนิท เช่น อาหารกระป๋อง
แม้จะมีประโยชน์ในการช่วยถนอมอาหาร แต่สารเหล่านี้ก็จัดเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งหากร่างกายได้รับอาหารที่มีสารกันบูดเหล่านี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในกรณีอาหารที่ได้รับการใส่สารกันบูดในปริมาณเกินกำหนดด้วยนั้น ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร ลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเม็ดเลือดขาวมากขึ้นตามไปด้วย
ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ได้รับการแต่งสี กลิ่น รส ที่อาจเป็นอันตราย เช่น การใช้สีที่ไม่ใช่สีผสมอาหาร อย่างสีย้อมผ้า หรือแม้กระทั่งการใช้สีผสมอาหารในปริมาณที่มากเกินไป รวมถึงอาหารที่อาจปนเปื้อนสารฆ่าแมลงและสารเคมีแปลกปลอมอื่น ๆ ซึ่งจะสังเกตได้จากลักษณะของอาหารที่ผิดจากธรรมชาติไปมาก เช่น มีสีฉูดฉาดจัดจ้านผิดปกติ หรือพืชผักผลไม้ที่ไม่มีร่องรอยการกัดกินจากแมลงเลย เป็นต้น
แม้ว่าสารโซเดียมคลอไรด์ หรือที่เรารู้จักกันดีในรูปแบบของเกลือที่นิยมนำมาประกอบอาหารนั้นจะให้ไอโอดีน ซึ่งช่วยป้องกันโรคคอพอก ได้ก็ตาม แต่การบริโภคอาหารที่มีเกลือเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูงเกินไป ซึ่งรวมถึงอาหารหมักดองด้วยเกลือ และอาหารที่ใส่ผงชูรส (โมโนโซเดียมกลูตาเมต) ก็อาจเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในกระเพาะอาหาร และหลอดอาหารได้ เพราะเมื่อร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไป ก็จะส่งผลให้ปริมาณเกลือโพแทสเซียมลดลง ซึ่งจะทำให้ ภูมิต้านทานในร่างกายลดลงตามไปด้วย
เชื้อราที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารชนิดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากที่สุดคือ เชื้อราที่ผลิตสารอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) ซึ่งเจริญเติบโตได้ดีในอาหารที่เป็นผลผลิตทางการเกษตร เช่น เมล็ดธัญพืช อย่างถั่ว หรือข้าวโพด รวมถึงพริกแห้ง หอม กระเทียม และอาหารจำพวกนมและขนมปัง ที่ถูกเก็บไว้นานจนเกินไป โดยเฉพาะในที่ที่อากาศร้อนและมีความชื้นสูง หากรับประทานเข้าไปจะก่อให้เกิดการสะสมของสารอะฟลาท็อกซินที่ตับ และอาจพัฒนาเป็นมะเร็งตับในที่สุด
สารเอทานอล ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เมื่อถูกย่อยสลายในร่างกายแล้ว จะกลายเป็นสารที่มีชื่อว่า อะเซทแอลดีไฮด์ ซึ่งมีผลทำให้เซลล์ในร่างกายอ่อนแอลง สำหรับผู้สูบบุหรี่เป็นประจำก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง เช่น มะเร็งช่องปาก มะเร็งตับ และ มะเร็งกระเพราะอาหารมากขึ้นตามไปด้วย
นอกจากหลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งแล้ว ก็ควรที่จะดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจเกิดความสมดุลในแบบองค์รวม ควบคู่กันไปด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีวิตามินเอ และวิตามินอีสูง หมั่นออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงความเครียด ให้ครีมกันแดดเพื่อป้องกันมะเร็งผิวหนัง และให้ความสำคัญกับตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเพียงเท่านี้คำว่า "มะเร็ง" ก็จะห่างไกลจากชีวิตคุณแน่นอน