แนวทางการ

รักษามะเร็ง

ในปัจจุบัน

แนวทางการรักษามะเร็ง ในปัจจุบัน

ก่อนทำการรักษา แน่นอนว่าผู้ป่วยทุกคนจะต้องได้การวินิจฉัยจากแพทย์โดยตรง เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมากที่สุด เพราะหากการวินิจฉัยไม่ถูกต้องตั้งแต่แรก จะทำให้เกิดผลเสียกับผู้ป่วยอย่างรุนแรง และหลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งชนิด

ใดเรียบร้อยแล้ว ก็จะเป็นขั้นตอนการตรวจดูระยะของโรค เพื่อดูขอบเขตของรอยโรคและเป็นการช่วยในการตัดสินใจวางแผนการรักษาต่อไป

การวางแผนการรักษา โดยมากหลังขั้นตอนการดูระยะของโรคแล้ว เราสามารแบ่งโรคมะเร็งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

  1. โรคที่จำกัดอยู่เฉพาะที่ (Localized Disease)
  2. โรคยังจำกัดอยู่เฉพาะที่ แต่ลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง (Locally Advanced Disease)
  3. โรคมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นแล้ว

การรักษามะเร็ง จะต้องดูถึงชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค และสภาพของผู้ป่วยขณะนั้นๆ และในบางโรค ต้องใช้การรักษาหลายๆ วิธีร่วมกัน เพื่อให้ได้ผลของการรักษาที่ดีที่สุด โดยในประเทศไทยเราจะมี 7 วิธีด้วยกัน นั้นคือ

แนวทางที่ 1 การผ่าตัด (Surgery) เพื่อเอาเซลล์มะเร็งออกจากร่างกาย สามารถรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดได้ โดยเฉพาะในระยะเริ่มต้นที่ก้อนมะเร็งยังอยู่เฉพาะตรงบริเวณอวัยวะเริ่มแรก ด้วยวิธีการต่างๆ ตามที่คุณหมอแนะนำ เช่น ผ่าตัดส่องกล้อง การผ่าตัดโดยใช้ความเย็น การผ่าตัดด้วยเลเซอร์ การผ่าตัดด้วยคลื่นวิทยุ การผ่าตัดโดยใช้ความร้อน เป็นต้น การผ่าตัดสามารถรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดได้ โดยเฉพาะในระยะเริ่มต้น มะเร็งยังอยู่เฉพาะตรงบริเวณอวัยวะเริ่มแรก

แนวทางที่ 2 การรักษาด้วยรังสีรักษา (Radiotherapy) คือ การใช้รังสีไปทำลายเซลล์มะเร็ง หรือ ทำให้ขนาดของก้อนเนื้องอกลดลง ซึ่งแบ่งได้ 2 กลุ่มคือ การฉายแสงหรือฉายรังสี โดยเป็นการรักษาจากภายนอกไปยังอวัยวะของร่างกายที่เป็นมะเร็ง (External Beam) และ การฝังแร่ หรือกินยาที่เป็นสารกัมมันตรังสีเข้าไป แล้วแร่หรือยานี้จะปล่อยกัมมันตรังสีไปทำลายเซลล์มะเร็งที่อวัยวะเป้าหมาย (Internal radiation therapy) ในบางโรคการใช้รังสีรักษาอย่างเดียวสามารถรักษามะเร็งนั้นๆ ให้หายขาดได้ เช่น มะเร็งหลังโพรงจมูก เป็นต้น

แนวทางที่ 3 การรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือการทำคีโม (chemotherapy) คือ การใช้ยาเข้าไปหยุดหรือชะลอการเติบโตของเซลล์มะเร็ง มีหลากหลายรูปแบบทั้งรูปแบบยาฉีด ยารับประทาน โดยมากการรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัดนี้ มักทำร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น ยามุ่งเป้า หรือรังสีรักษา

แนวทางที่ 4 การรักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted therapy) เป็นการให้ยาเข้าไปจัดการเซลล์มะเร็งเป้าหมายแบบเฉพาะเจาะจง สามารถใช้ได้กับมะเร็งบางชนิด ซึ่งไม่สามารถใช้รักษาผู้ป่วยได้ทุกคน การรักษานี้ เป็นเทคโนโลยีจากการศึกษาลักษณะเฉพาะของเซลล์มะเร็ง และทำการค้นคว้า พัฒนายาที่ตรงกับเซลล์นั้นมากที่สุด เพื่อไปยับยั้งกระบวนการส่งสัญญาณของเซลล์มะเร็ง ซึ่งกระบวนการส่งสัญญาณนี้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เซลล์มะเร็งมีการเจริญเติบโตและแพร่กระจาย เป็นการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงค่อนข้างสูง

แนวทางที่ 5 การรักษามะเร็งเฉพาะจุด โดยใช้อุปกรณ์จี้ทำลายก้อนมะเร็งด้วยความร้อน หรือฉีดยาอุดกั้นเส้นเลือดที่เลี้ยงก้อนมะเร็ง

แนวทางที่ 6 การบำบัดด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นการบำบัดโดยการสร้างความแข็งแรงให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ให้สามารถเข้าทำลายเซลล์มะเร็งได้ โดยไปยับยั้งกระบวนการป้องกันตัวของเซลล์มะเร็ง พร้อมกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถกําจัดเซลล์มะเร็งผ่านกระบวนการปกติ ที่ทําหน้าที่กําจัดสิ่งแปลกปลอม โดยเซลล์ที่มีหน้าที่สำคัญนี้คือ เซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการจดจําและแยกแยะเซลล์ที่ผิดปกติ มียาหลายรูปแบบ เช่น การกิน การฉีดเข้าสู่หลอดเลือดดําและการ

ใช้ภายนอก

แนวทางที่ 7 การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดหรือการปลูกถ่ายไขกระดูก (Hematopoietic Stem Cell Transplantation) เป็นการใช้เซลล์ต้นกําเนิดเม็ดเลือด (stem cell) ที่ปกติ ในการรักษาโรคในผู้ป่วยมะเร็งทางโลหิตวิทยา แบ่ง เป็น 2 ชนิด คือ การใช้เซลล์ต้นกําเนิดเม็ดเลือดของตนเองหรือญาติ (autologous hematopoietic stem cell transplantation: auto-HSCT) และการใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของผู้บริจาค (allogenic hematopoietic stem cell transplantation: allo-HSCT) แหล่งที่มาของ Stem cell ได้แก่ ไขกระดูก กระแสเลือด และเลือดจากสายสะดือหรือรก เป็นการรักษาที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่สุด เนื่องจากต้องได้รับยาเคมีบำบัดขนาดสูงและยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อกําจัดเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่ให้มากที่สุด และเปิดช่องว่างให้ Stem cell ใหม่เจริญเติบโต

ทั้งนี้ เพื่อให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผู้ป่วยและครอบครัวจำเป็นต้องปรึกษาหารือและร่วมกันตัดสินใจกับคุณหมอผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสภาพร่างกาย ชนิดของมะเร็ง และระยะของโรคในผู้ป่วยแต่ละรายมีความแตกต่างกัน การวางแผนการรักษาที่เหมาะสมเฉพาะบุคคลจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

ที่มา:

  • มัสยา สำเนียงงาม และธนัสนี เพียรตระกูล (2561). ระบบสนับสนุนการเลือกยาสำหรับการรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้าตามเส้นทางการส่งสัญญาณของเซลล์. วารสารวิทยาการสารสนเทศและเทคโนโลยีประยุกต์, ปีที่ 1 (1), 39-55. สืบค้นจาก https://doi.nrct.go.th/admin/doc/doc_587610.pdf
  • ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ สภาเภสัชกรรม https://ccpe.pharmacycouncil.org/
  • พญ. เอื้อมแข สุขประเสริฐ. (2011). CANCER THERAPY. Workshop and Traineeship for Oncology Pharmacy Practitioners 2011. การประชุมเชิงปฏิบัติการ, (น. 25-39)
  • ทักษิณ จันทร์สิงห์ (2562). ความรู้ทั่วไปสำหรับเภสัชกรเกี่ยวกับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในเด็ก. วารสารเภสัชกรรมไทย, ปีที่ 11 (เล่มที่ 1), 194-214. สืบค้นจาก tjpp.pharmacy.psu.ac.th

โรคมะเร็ง สามารถรักษาได้ หากรู้ตัวเร็ว และรักษากันตั้งแต่ต้น

icon-messenger
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ