มะเร็งและเนื้องอกในระบบประสาท

มะเร็งและเนื้องอกในระบบประสาท

เนื้องอกของระบบประสาท แบ่งได้เป็น

  • เนื้องอกของสมอง กลุ่มนี้พบได้มากที่สุดประมาณ 75 %
  • เนื้องอกของไขสันหลัง พบได้ประมาณ 20 %
  • เนื้องอกของประสาทส่วนปลาย พบน้อยกว่า 5%

 


 สาเหตุการเกิดโรค

สาเหตุของเนื้องอกระบบประสาททั้งในผู้ใหญ่และเด็ก ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่ามีการเจริญแบ่งตัวรวดเร็วผิดปกติของเซลล์อื่น ๆ ในระบบประสาท เช่น เนื้องอกจากเซลล์ประสาท เนื้องอกจากเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง เนื้องอกจาก ต่อมต่าง ๆ ในสมอง เนื้องอกจากเซลล์ปลอกประสาท เป็นต้น

 


อาการของโรค

  1. อาการของเนื้องอกในสมอง คือ ปวดศีรษะ ตามัว อาเจียน เป็นอัมพาตแขน ขา ตาบอด เดินเซ หูหนวก ชักกระตุก ความจำเสื่อม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าก้อนเนื้องอกนั้นเกิดขึ้นที่ใด และกดอวัยวะส่วนใดของสมอง
  2. อาการของเนื้องอกในไขสันหลัง คือ ปวดหลัง แขนขาชาและอ่อนแรง เดินเซ เดินไม่ถนัดหรือเป็นอัมพาต การควบคุมการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะลำบาก
  3. อาการของเนื้องอกที่ประสาทส่วนปลาย คือ คลำพบก้อนหรือรู้สึกชา หรือร่วมกับ อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ

อาการต่าง ๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ อาจเกิดจากสาเหตุหรือโรคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เนื้องอกก็ได้ จึงควรพบแพทย์เพื่อทำการ ตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดต่อไป บางครั้ง อาจต้องอาศัยวิธีตรวจพิเศษร่วมด้วย เช่น การเอกซเรย์ การตรวจเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น

 


 การวินิจฉัยโรคเนื้องอกในสมอง

นอกเหนือจากการซักประวัติและตรวจร่างกายแล้ว แพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยการตรวจสมองโดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้เห็นภาพในสมอง ช่วยให้แพทย์สามารถบอกชนิดของเนื้องอกหรือคาดการณ์ได้มากขึ้นว่าเนื้องอกนั้นน่าจะเป็นอะไร รวมถึงช่วยวางแผนในการรักษาได้ด้วย

 


 แนวทางการรักษาเนื้องอกในสมอง

มีอยู่ 3 วิธีใหญ่ๆ คือ การผ่าตัด การฉายรังสี และ การให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเลือกแนวทางการรักษาโดยพิจารณาจากหลายปัจจัย อาทิ อาการของผู้ป่วย ตำแหน่งของเนื้องอก และขนาดของเนื้องอก หากผู้ป่วยมีเนื้องอกที่ไม่ได้ทำให้เกิดอาการและมีขนาดเล็กมาก อยู่ในตำแหน่งของสมองที่ไม่ได้ทำให้เกิดการสูญเสียการทำงานของร่างกาย อาจเพียงแค่ติดตามอาการเพื่อดูว่ามีการขยายตัวของเนื้องอกเพิ่มขึ้นหรือไม่

ถ้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจึงค่อยทำการรักษา แต่ถ้าเนื้องอกมีขนาดใหญ่พอสมควรและทำให้เกิดอาการ เช่น อ่อนแรงหรือปวดศีรษะมาก ก็จำเป็นต้องทำการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเนื้องอกออกไป ในกรณีที่ผ่าตัดเนื้องอกออกไปแล้ว พบว่าเป็นเนื้อร้ายก็อาจต้องทำการฉายรังสีหรือให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย