มะเร็งผิวหนัง

มะเร็งผิวหนัง

มะเร็งผิวหนังเป็นมะเร็งที่เจริญช้า ๆ อย่างไร้ทิศทาง มีการแพร่กระจายไปทางกระแสเลือดและต่อมน้ำเหลืองน้อยมาก มักพบบริเวณศีรษะ คือ ประมาณ 80-90% และที่ใบหน้า 65% ได้แก่ ตา หู จมูก การรักษามะเร็งผิวหนังจะได้ผลดีถ้าพบในระยะแรกเริ่มมีอาการ

 

 


 

ปัจจัยที่เป็นสาเหตุการเกิดมะเร็งผิวหนัง

  • แสงแดดและรังสีอัลตราไวโอเลตทั้ง UVA และ UVB
  • สารเคมี เช่น สารหนูที่ปนอยู่ในน้ำ
  • แผลเป็นเนื่องจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก อาจทำให้กลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้
  • มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งผิวหนัง

 


 

อาการที่บ่งบอกว่าเป็นมะเร็งผิวหนัง

  • ผื่นหรือก้อนที่เป็นอยู่เดิมมีรูปร่างเปลี่ยนแปลงไป
  • มีผื่นหรือก้อนที่เกิดขึ้นใหม่และไม่หายใน 4-6 สัปดาห์
  • ไฝ ปานที่โตเร็ว มีสีและรูปร่างเปลี่ยนไปจากเดิม มีอาการคันแตกเป็นแผล และมีเลือดออก
  • แผลเรื้อรังไม่หายภายใน 4 สัปดาห์

 

 

 


 

การรักษามะเร็งผิวหนัง

การรักษามะเร็งผิวหนัง วิธีที่ดีที่สุดคือ การผ่าตัดเอามะเร็งผิวหนังออกให้หมด ถ้ารอยโรคมีขนาดเล็กกว่า 2 เซนติเมตร อาจใช้วิธีรักษาโดยการขูดออกร่วมกับการจี้ด้วยไฟฟ้าหรือจี้ด้วยไนโตรเจนเหลว แต่ถ้ามะเร็งกระจายไปส่วนอื่นแล้ว อาจต้องใช้เคมีบำบัด บางครั้งอาจต้องใช้การฉายแสงร่วมด้วย เช่น มะเร็งแพร่กระจายไปยังกระดูกและสมอง การผ่าตัดมะเร็งผิวหนังออกให้หมดยังมีปัญหาเนื่องจากเราไม่สามารถรู้ขอบเขตการกระจายของมะเร็ง นายแพทย์ Frederic E Mohs จึงคิดค้นวิธีการผ่าตัดที่เรียกว่า Mohs Micrographic Surgery (MMS) ซึ่งจะช่วยผ่าตัดมะเร็งผิวหนังออกได้หมด ถึงแม้ขอบเขตของมะเร็งจะเห็นไม่ชัด และสูญเสียเนื้อเยื่อปกติบริเวณรอบ ๆ รอยโรคได้น้อยที่สุด การรักษาวิธีนี้ได้ผลดี 90-95%

การทำผ่าตัดด้วยวิธี MMS

เป็นการตัดเฉพาะมะเร็งผิวหนังออกได้หมด โดยมีการเสียผิวหนังปกติที่อยู่ข้างเคียงน้อยที่สุดด้วยวิธีการตัดมะเร็งออกทีละชั้นเป็นชั้นบาง ๆ และจี้ด้วยไฟฟ้าเพื่อห้ามเลือดก่อนปิดแผลด้วยผ้ากอซแล้วน้ำชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อดูว่าตำแหน่งใดที่ยังมีมะเร็งเหลืออยู่ ผู้ป่วยนั่งรอผลการตรวจชิ้นเนื้อประมาณ 2 ชั่วโมง ถ้ายังพบเซลล์มะเร็ง แพทย์จะกลับไปตัดซ้ำด้วยวิธีเดิมในตำแหน่งที่มีมะเร็งเหลืออยู่จนกว่าจะไม่พบเซลล์มะเร็งผิวหนังเหลืออยู่ที่บริเวณรอยโรคนั้น บางครั้งอาจต้องทำผ่าตัดซ้ำด้วยวิธีเดิม 2-3 ครั้งหรือมากกว่านั้น หลังจากนั้นทำการปิดแผลโดยการเย็บแผลหรือปล่อยให้แผลหายเองตามความเหมาะสมแต่ละราย

มะเร็วผิวหนังที่ควรรักษาด้วยวิธี MMS

  • มะเร็งผิวหนังที่กลับเป็นซ้ำ
  • มะเร็งผิวหนังมีขนาดใหญ่กว่า 2 เซนติเมตร
  • มะเร็งผิวหนังปฐมภูมิ
  • มะเร็งผิวหนังที่เจริญอย่างรวดเร็วและรุนแรง
  • มะเร็งผิวหนังที่มีขอบเขตไม่ชัดเจน
  • มะเร็งผิวหนังที่เกิดบนแผลเป็น
  • มะเร็วผิวหนังที่ตัดออกไม่หมด หลังทำการผ่าตัดด้วยวิธีธรรมดา

 


 

คำแนะนำการปฏิบัติตัวก่อนทำผ่าตัด

  • การผ่าตัดวิธีนี้ สามารถทำเสร็จในวันเดียวไม่จำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ดังนั้น ผู้ป่วยควรพาญาติมาด้วยในวันผ่าตัด เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยเวลากลับบ้าน
  • พักผ่อนให้เพียงพอก่อนวันผ่าตัด
  • ควรรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย ในวันผ่าตัด
  • ถ้ามีโรคประจำตัวควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เช่น โรคหัวใจที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (pacemaker)
  • ผู้ป่วยที่รับประทานยาแอสไพรินเป็นประจำควรงดรับประทานยานี้อย่างน้อย 10 วัน ก่อนวันผ่าตัด เพื่อป้องกันเลือดออกมากเวลาทำการผ่าตัด
  • งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างน้อย 1 วันก่อนวันผ่าตัด

 

คำแนะนำหลังการทำผ่าตัดด้วยวิธี MMS

  • กรณีที่ไม่เย็บปิดแผล ไม่ควรให้แผลถูกน้ำภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังทำผ่าตัด และควรทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือ (normal saline) แล้วเช็ดแผลให้แห้ง หาครีมปฏิชีวนะก่อนปิดแผลเช้าและเย็น จะช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น
  • กรณีที่เย็บปิดแผล ไม่ควรให้แผลถูกน้ำจนถึงวันนัดตัดไหม ถ้าแผลเปียกน้ำให้ทำแผลเปลี่ยนผ้าปิดแผลใหม่
  • ถ้าพบว่ามีเลือดออกจากแผลที่ทำผ่าตัด ให้ใช้ผ้าสะอาดกดตรงบริเวณบาดแผลนานประมาณ 20 นาที เลือดที่ออกจะหยุด ถ้าเลือดไม่หยุดไหลให้รีบมาพบแพทย์ทันทีเพื่อทำการห้ามเลือดและปิดแผลใหม่
  • ถ้าพบว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับแผล เช่น บวมมาก มีหนองไหลออกจากแผล ให้รีบมาพบแพทย์ทันทีไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด
  • ถ้ามีอาการปวดแผล ให้รับประทานยาพาราเซตามอล (paracetamol) 500 มิลลิกรัม 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาแอสไพรินเพราะจะทำให้เลือดออกง่าย
  • มารับการตรวจตามที่แพทย์นัดทุกครั้งคือ 1 สัปดาห์ 1 เดือน หลังจากนั้นปีละครั้ง เป็นเวลา 3-5 ปี เพื่อติดตามการเกิดมะเร็งเป็นซ้ำขึ้นมาอีก
  • ถ้ามีก้อนหรือผื่นเกิดขึ้นมาใหม่ในบริเวณรอยโรคเดิม ต้องรีบมาพบแพทย์ตรวจไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด

 


 

การป้องกัน

แสงแดดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังเราควรหลีกเลี่ยงแสงแดดซึ่งมีวิธีปฏิบัติดังนี้

  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมใด ๆ กลางแจ้ง ในช่วงเวลาประมาณ 9.00-17.00 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาที่แสงแดดแผ่รังสีสูงสุด
  • ใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF มากกว่าหรือเท่ากับ 15 โดยใช้ทาก่อนออกแดดประมาณ 15 นาที และหลังว่ายน้ำหรือออกกำลังกาย ควรทายากันแดดซ้ำอีกครั้ง
  • ก่อนออกนอกบ้านควรสวมหมวกปีกกว้าง และใส่เสื้อปกปิดเพื่อป้องกันแสงแดด
  • ผู้ป่วยมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งผิวหนัง ควรมาพบแพทย์เพื่อการตรวจค้นหามะเร็งตั้งแต่ระยะแรก

 

 

ที่มา : ภาควิชาตจวิทยา Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล