มะเร็งตับอ่อน

มะเร็งตับอ่อน

มะเร็งตับอ่อน เป็นมะเร็งที่มีความรุนแรงมากชนิดหนึ่ง แต่เป็นมะเร็งที่ไม่ค่อยพบบ่อยนักเป็นมะเร็งของผู้ใหญ่เกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

สาเหตุของการเกิดมะเร็ง ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของมะเร็งตับอ่อนแต่พบว่าอาจมีปัจจัยเสี่ยงได้ดังนี้

  1.  ในคนที่สูบบุหรี่จัด มีปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งตับอ่อนมากกว่า
  2.  ในคนที่มีครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อน มีโอกาสเป็นมะเร็งตับอ่อนได้สูงกว่า
  3.  ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน มีปัจจัยเสี่ยงสูงกว่า

 


 

อาการที่แสดง

อาการของมะเร็งตับอ่อน เมื่อเริ่มเป็น มักไม่มีอาการ จะมีอาการก็ต่อเมื่อก้อนมะเร็งโตมากขึ้น จนไปกดทับทางเดินน้ำดี ทำให้มีตัวเหลือง ตาเหลือง หรือ ปวดหลังได้ ซึ่งมักเป็นอาการที่พบได้ในโรคทั่วๆ ไป ไม่ใช่อาการเฉพาะของมะเร็งตับอ่อน ถ้าโรครุนแรงมากขึ้น อาจมีอาการแน่นท้องจากมีน้ำในท้อง เบื่ออาหาร ผอมลง หรือมีอาการจากการที่โรคแพร่ไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น อาการปวดกระดูกจากการมีโรคแพร่ไปกระดูก เป็นต้น

 


 

การตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคและหาระยะของโรค

มะเร็งตับอ่อน เป็นมะเร็งที่วินิจฉัยโรคได้ยาก แต่อย่างไรก็ตาม จากการซักประวัติ อาการ อาการแสดง และการตรวจร่างกาย ถ้าแพทย์สงสัยว่าเป็นโรคตับอ่อน มักจะทำการตรวจเพิ่มเติม โดยการทำอัลตราซาวด์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ดูพยาธิสภาพของตับอ่อน และตับเพราะมะเร็งตับอ่อนกระจายไปตับได้สูง และอาจมีการตรวจเลือดเพื่อตรวจสารที่เรียกว่า ซี อี เอ (CEA) หรือ ซี เอ 19-9 (CA 19-9) ถ้าภาพอัลตราซาวด์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ พบมีก้อนเนื้อของตับอ่อนแพทย์มักทำการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเนื้อออก เพื่อการรักษาและเพื่อนำก้อนเนื้อไปตรวจพิสูจน์ทางพยาธิวิทยา (การตัดชิ้นเนื้อจากตับอ่อนก่อนผ่าตัดเพื่อการพิสูจน์ทางการพยาธิวิทยาก่อนการผ่าตัด มักทำไม่ได้ เพราะมีอันตรายค่อนข้างสูง) ว่าใช่มะเร็งตับอ่อนหรือไม่ ก่อนผ่าตัดแพทย์จะมีการตรวจเลือดเพิ่มเติม ตรวจปัสสาวะ และภาพเอกซเรย์ปอด เพื่อดูสภาพร่างกายผู้ป่วยและดูว่ามีโรคแพร่กระจายไปปอดและตับหรือยัง

 


 

ระยะของโรคมะเร็งตับอ่อน

แบ่งมะเร็งตับอ่อนเป็น 4 ระยะได้แก่

ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งลุกลามอยู่ในตับอ่อนหรืออาจเริ่มลุกลามเข้าลำไส้เล็กส่วนที่ อยู่ติดกัน

ระยะที่ 2 มะเร็งลุกลามออกนอกตับอ่อนเข้ากระเพาะอาหารและ / หรือม้ามและ / หรือลำไส้ใหญ่

ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามกระจายไปต่อมน้ำเหลืองแล้ว

ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามเข้ากระแสโลหิตแพร่ไปยังอวัยวะที่ไกลออกไปที่พบได้บ่อยคือ ตับ

 


 

การรักษามะเร็งตับอ่อน

วิธีการรักษาที่ใช้รักษามะเร็งตับอ่อนมี 3 วิธี ได้แก่ การผ่าตัด เคมีบำบัดและรังสีรักษา โดยทั่วๆ ไป เมื่อวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งตับอ่อนแพทย์จะแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ทำผ่าตัดได้และกลุ่มที่ทำผ่าตัดไม่ได้

กลุ่มที่ทำผ่าตัดได้ คือ ผู้ป่วยที่โรคยังลุกลามไม่มากและมีสภาพร่างกาย แข็งแรง เมื่อผ่าตัดแล้วแพทย์จะนำก้อนเนื้อไปตรวจพิสูจน์ทางพยาธิวิทยาและถ้ามีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ก็จะมีการรักษาเพิ่มเติมโดย เคมีบำบัด หรือรังสีรักษาร่วมด้วย

กลุ่มที่ทำผ่าตัดไม่ได้ คือ กลุ่มที่โรคลุกลามมากแล้วแต่ยังแข็งแรงมักให้การรักษา โดยเคมีบำบัด ร่วมกับรังสีรักษาแต่ถ้าเป็นผู้ป่วยที่ร่างกายไม่แข็งแรงการรักษาจะเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ

 


 

ความรุนแรงของมะเร็งตับอ่อน

ความรุนแรงของมะเร็งตับอ่อนขึ้นกับหลายปัจจัยที่สำคัญได้แก่

  • ระยะของโรคมะเร็งระยะยิ่งสูงความรุนแรงก็มากขึ้น
  • สภาพร่างกายของผู้ป่วยถ้าร่างกายไม่แข็งแรงก็จะเป็นอุปสรรค ต่อการรักษา
  • โรคร่วมอื่นๆ ที่มีผลต่อสุขภาพ เช่น โรคไต หรือโรคเบาหวาน เป็นต้น ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการรักษา
  • อายุ ผู้ป่วยสูงอายุมักทนการรักษาได้ไม่ดี

 


 

การติดตามผลการรักษา

เมื่อให้การรักษาครบแล้ว แพทย์จะนัดตรวจติดตามโรคและดูแลผู้ป่วยต่อสม่ำเสมอ โดยภายใน 1-2 ปี หลังครบการรักษามักนัดตรวจทุก 1-2 เดือน ในปีที่ 3-5 หลังการรักษามักนัดตรวจทุก 2-3 เดือน และในปีที่ 5 ไปแล้วมักนัดตรวจทุก 6-12 เดือน ในการมาตรวจทุกครั้ง ควรนำญาติสายตรงหรือผู้ดูแลมาด้วย เพื่อร่วมพูดคุยปรึกษากับแพทย์โดยตรงและถ้ารับประทานยาอะไรอยู่หรือมีการตรวจเพิ่มเติม จากแพทย์ท่านอื่นๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อจะได้ให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม

 

 

ที่มา: หน่วยรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี