มะเร็งกล่องเสียง

มะเร็งกล่องเสียง

กล่องเสียง เป็นอวัยวะที่อยู่ด้านหน้าของลำคอ ขนาดกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร กล่องเสียงประกอบด้วยกล้ามเนื้อสองแถบที่ทำหน้าที่เป็นสายเสียง และมีกระดูกอ่อนอยู่ทางด้านหน้า โดยอาจแบ่งออกเป็นสามส่วน คือส่วนบน ส่วนกลาง และส่วนล่าง มีหน้าที่ในการออกเสียง ช่วยการหายใจ และช่วยการกลืนอาหาร การเปิด-ปิด ของกล่องเสียง จะสัมพันธ์ กับการหายใจ การพูด และการกลืนอาหาร

  • การหายใจ เมื่อกลั้นหายใจ สายเสียงจะปิดแน่น แต่เมื่อมีการหายใจ สายเสียงจะผ่อนคลายและเปิดออก
  • การพูด เวลาพูด จะมีการเคลื่อนไหว ของสายเสียงเข้าหากัน ลมจากปอดจะผ่านสายเสียง และทำให้เกิดการสั่นสะเทือนของสายเสียง  แรงสั่นสะเทือนนี้เองที่ทำให้เกิดเสียงขึ้น 
  • การกลืน กล่องเสียงจะป้องกันไม่ให้อาหารและน้ำ สำลักลงไปในหลอดลม และปอด

 

กล่องเสียง แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ

  • กล่องเสียง ส่วนที่อยู่เหนือสายเสียง (supraglottis) ส่วนนี้มีทางเดินน้ำเหลืองมากมาย เมื่อเกิดมะเร็งของกล่องเสียงส่วนนี้  จึงกระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองได้สูง
  • กล่องเสียง ส่วนสายเสียง (glottis) ส่วนนี้ไม่ค่อยมีทางเดินน้ำเหลือง เมื่อเกิดมะเร็งของกล่องเสียงส่วนนี้  จึงมักไม่ค่อยกระจายเข้าต่อมน้ำเหลือง
  • กล่องเสียง ส่วนที่อยู่ใต้สายเสียง (subglottis) ซึ่งเป็นส่วนที่ติดต่อกับท่อลม และมีทางเดินน้ำเหลืองติดต่อกับส่วนช่องอก ดังนั้น เมื่อเกิดมะเร็งของกล่องเสียงส่วนนี้  จึงกระจายเข้าท่อลม และต่อมน้ำเหลืองในช่องอกได้สูง

 


 

สาเหตุของมะเร็งกล่องเสียง

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของมะเร็งกล่องเสียง แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งกล่องเสียงได้แก่

  • การสูบบุหรี่ การเผาไหม้ของบุหรี่สามารถทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง นอกจากนั้น ควันของบุหรี่จะทำให้ขนกวัดของเยื่อบุกล่องเสียง หยุดการเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนไหวช้าลง มีสารคัดหลั่ง หรือสารระคายเคืองค้างอยู่ ทำให้เยื่อบุของกล่องเสียงหนาตัวขึ้นและเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพเซลล์ ( squamous metaplasia ) กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้  พบว่าปัจจัยนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด
  • ดื่มสุรา แอลกอฮอล์สามารถไปกระตุ้นเยื่อบุของกล่องเสียง เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพเซลล์ กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้
  • การอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุกล่องเสียง เช่น จากคอ หรือ หลอดลมที่อักเสบเรื้อรัง
  • มลพิษทางอากาศ  การสูดดมอากาศที่เป็นพิษ เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่น ควัน สารเคมี จากโรงงานอุตสาหกรรม
  • การติดเชื้อไวรัส  เชื้อไวรัสสามารถทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงและแบ่งเซลล์ผิดปกติได้  ไวรัสยังสามารถถ่ายทอดยีนทางพันธุกรรม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งในคนรุ่นต่อไปได้ ซึ่งการติดเชื้อ human papilloma virus (HPV)-16 และ 18 มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเกิดมะเร็งกล่องเสียง
  • การฉายรังสี การรักษาโดยการฉายรังสีก้อนเนื้อบริเวณคอ สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้
  • ฮอร์โมนเพศ  ผลการทดลองที่เกี่ยวข้องแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงจะมีเซลล์ตัวรับสัญญาณเอสโตรเจนรีเซบเตอร์ (Estrogen receptor, ER) เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 


 

อาการของมะเร็งกล่องเสียง

  • เสียงแหบเรื้อรัง ซึ่งหากมะเร็งเกิดที่กล่องเสียง ส่วนสายเสียง จะแสดงอาการนี้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก แต่หากเป็นที่กล่องเสียงส่วนอื่น  อาการเสียงแหบที่เกิดขึ้น มักจะแสดงว่ามะเร็งอยู่ในระยะที่ลุกลามแล้ว
  • กลืนอาหารลำบาก  กลืนติด กลืนแล้วเจ็บ หรือสำลัก
  • มีเสมหะปนเลือด
  • หายใจไม่ออก  หายใจติดขัด  หายใจลำบาก
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  • มีก้อนโตที่คอ (ก้อนมะเร็งที่ลุกลามออกมา หรือต่อมน้ำเหลือง ที่มะเร็งแพร่กระจายมา) อาจมีเพียงก้อนเดียว หรือ หลายๆก้อนได้พร้อมกัน
  • เจ็บคอเรื้อรัง  มีความรู้สึกเหมือนก้างติดคอ
  • ปวดหู หรือไอเรื้อรัง

..... 

สัญญาณเตือน ถึงความผิดปกติและควรมารับการตรวจวินิจฉัย
          
เมื่อผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวข้างต้น ซึ่งอาจจะบ่งบอกว่าเป็นมะเร็งกล่องเสียง ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อให้ได้การวินิจฉัยสาเหตุของอาการดังกล่าว

 


 

ระยะของมะเร็งกล่องเสียง

  • ระยะที่ 1 มะเร็ง ลุกลามอยู่เฉพาะในกล่องเสียงเพียงส่วนเดียว
  • ระยะที่ 2 มะเร็ง ลุกลามเข้ากล่องเสียงตั้งแต่ 2 ส่วนขึ้นไป
  • ระยะที่ 3 มะเร็ง ลุกลามจนสายเสียงไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ และ/หรือ มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ซึ่งมีขนาดเล็กไม่เกิน 3 ซม. เพียง 1 ต่อม
  • ระยะที่ 4 มะเร็ง ลุกลามเข้าผิวหนัง และ/หรือ ต่อมไทรอยด์ และ/หรือ หลอดอาหาร และ/หรือ มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโตหลายต่อม และ/หรือ ต่อมน้ำเหลืองที่คอมีขนาดโตมากกว่า 6 ซม. และ/หรือ แพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตไปยังอวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ห่างจากต้นกำเนิดของมะเร็ง เช่น ปอด  ตับ  กระดูก  และสมอง เป็นต้น


          
โดยทั่วไป อัตรารอดชีวิตอยู่ที่ 5 ปี ในระยะที่ 1 ประมาณ ร้อยละ 70-90, ในระยะที่ 2 ประมาณร้อยละ  60-70, ในระยะที่ 3 ประมาณร้อยละ 40-60 และในระยะที่ 4 กลุ่มที่ยังไม่มีการแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต ประมาณร้อยละ  20-40 ถ้ามีการแพร่กระจายเข้ากระแสเลือดจะมีโอกาสอยู่ได้ 2 ปี ประมาณร้อยละ 30-50

 


การวินิจฉัย

  1. การใช้กระจกส่องลงไปตรวจที่กล่องเสียง เพื่อตรวจดูว่ามีเนื้องอกบริเวณกล่องเสียงหรือไม่
  2. การส่องกล้องตรวจที่กล่องเสียง และการตัดชื้นเนื้อที่สงสัย ไปตรวจทางพยาธิวิทยา ว่ามีเซลล์มะเร็งหรือไม่
  3. การตรวจเลือด, ปัสสาวะ, คลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยสำหรับการดมยาสลบและส่องกล้องตรวจที่กล่องเสียง และการตัดชื้นเนื้อ
  4. การตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น เอ็กซเรย์ปอด, เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT), ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อให้ทราบว่า เป็นมะเร็งระยะที่เท่าไร มีการแพร่กระจายไปที่ใดบ้าง

 


 

การรักษามะเร็งกล่องเสียง

          เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งกล่องเสียง แพทย์จะให้การรักษาตามแนวทางดังนี้
         

  • ถ้าเป็นระยะแรกเริ่ม (ระยะที่ 1 และระยะที่ 2) จะรักษาโดยการฉายรังสี หรือผ่าตัด วิธีใด วิธีหนึ่งเพียงวิธีเดียวเพราะให้ผลการรักษาได้เท่าเทียมกัน แต่การฉายรังสีรักษา เป็นการให้รังสีกำลังสูง เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง สามารถใช้รักษามะเร็งกล่องเสียงระยะแรกให้หายขาดได้ และสามารถรักษากล่องเสียงไว้ได้ ทำให้ผู้ป่วยยังคงพูดได้เป็นปกติ ส่วนการผ่าตัด มักจะผ่าตัดกล่องเสียงออกบางส่วนเท่านั้น หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะสามารถพูด และกินอาหารได้ตามปกติ โดยอาจมีเสียงแหบบ้าง
  • ถ้าเป็นระยะลุกลาม (ระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ซึ่งยังไม่มีการแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต) จะใช้การรักษาร่วมกัน หลายๆวิธี เช่น การผ่าตัดกล่องเสียงออกทั้งหมด  รวมทั้งต่อมน้ำเหลืองที่โต หรือที่อยู่ใกล้เคียง ร่วมกับการฉายรังสี  บางรายอาจใช้เคมีบำบัดร่วมด้วย เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง ซึ่งหลังผ่าตัดผู้ป่วยจะพูดไม่ได้เป็นปกติ แต่ส่วนใหญ่จะกินอาหารได้ปกติ  ผู้ป่วยจะต้องฝึกการพูดแบบไม่มีกล่องเสียง โดยการกลืนลมเร็ว ๆ แล้วเอาลมจากกระเพาะอาหารย้อนผ่านหลอดอาหารออกมาเป็นเสียง (esophageal speech) หรือใช้อุปกรณ์ช่วยพูด (electrolarynx) ซึ่งเป็นเครื่องแปลงการสั่นของกล้ามเนื้อเป็นเสียง หรืออาศัยรูที่เจาะระหว่างหลอดลมและหลอดอาหาร


ทั้งนี้ แพทย์หู คอ จมูก, แพทย์รังสีรักษา และแพทย์อายุรกรรมด้านมะเร็ง จะเป็นผู้พิจารณาแนวทางวิธีการรักษา โดยประเมินจากความรุนแรง และ ระยะของมะเร็ง, ความพร้อมในด้านต่างๆของสถาบันที่ให้การรักษา รวมถึงสภาพของผู้ป่วยด้วย

 


 

ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งกล่องเสียง

ขึ้นกับวิธีรักษา และผลข้างเคียงจะสูงขึ้น เมื่อใช้หลายๆ วิธีรักษาร่วมกัน หรือเมื่อผู้ป่วยมีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคไขมันในเลือดสูง, โรคหัวใจ, โรคที่ก่อให้มีการอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น โรคที่มีภูมิต้านทานต่อตนเอง หรือผู้ป่วยสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือมีอายุมาก

  • ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด เมื่อผ่าตัดกล่องเสียงออกทั้งหมด ผู้ป่วยจะพูดไม่ได้ และต้องหายใจทางรูเจาะคอถาวร แต่ในโรคระยะที่ 1 ในบางตำแหน่งของโรค แพทย์อาจผ่าตัดกล่องเสียงออกเพียงบางส่วน ผู้ป่วยจึงยังคงมีเสียงพูดได้ และไม่ต้องเจาะคอ  หลังผ่าตัด อาจจะทำให้การกลืนทำได้ลำบากขึ้น อาจจะต้องให้อาหารทางสายยางผ่านรูจมูก หรือใส่สายให้อาหารทางหน้าท้องชั่วคราว รวมทั้งอาจมีภาวะเลือดออก การเกิดรูรั่วของทางเดินอาหารใหม่ การตีบตันของรูเจาะคอถาวร การสำลักอาหารเข้าสู่หลอดลม และปอด
  • ผลข้างเคียงจากการฉายรังสี คือ อาการเจ็บคอ กลืนลำบาก  ทำให้กินอาหารได้ลำบาก รับรสชาติอาหารได้ลดลง   มีอาการอ่อนเพลีย และน้ำหนักลด เสียงแหบ ผิวหนังที่คอแห้งและแดง มีสีผิวเปลี่ยนไป ปาก และคอแห้ง อาจทำให้มีปัญหาฟันผุตามมาได้ หายใจลำบาก เนื่องจากกล่องเสียงบวมมากขึ้นหลังการฉายรังสีต่อมไทรอยด์อาจจะถูกทำลาย ทำให้ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ เมื่อฉายรังสีครบแล้ว อาจเกิดพังผืดกับสายเสียง เกิดเสียงแหบถาวรได้
  • ผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด คือ ช่วงให้ยา จะเจ็บคอมากเป็นพิเศษ เม็ดเลือดขาวต่ำ ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย และอาจมีเลือดออก หรือจ้ำเลือดตามตัวได้ง่าย เป็นผลมาจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ หรือ มีอาการอ่อนเพลีย  เหนื่อยง่าย ซีด ผมร่วง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร มีแผลในปาก


การให้ยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงนั้น จะช่วยลดอาการที่เกิดจากก้อนมะเร็งขนาดที่ใหญ่เกินกว่าการฉายรังสีเพียงอย่างเดียวจะควบคุมได้ และช่วยลดการแพร่กระจายของมะเร็งที่มีก้อนขนาดใหญ่ด้วย การใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสีในช่วงเวลาเดียวกัน  สามารถทำให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงกว่าการให้การรักษาเพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง การรักษาวิธีนี้อาจช่วยให้สามารถรักษากล่องเสียงไว้ได้

 


 

การเตรียมผู้ป่วยก่อนการรักษา

  • การตรวจเพื่อเตรียมพร้อมของผู้ป่วยสำหรับการดมยาสลบและการผ่าตัด เช่น การตรวจเลือด, ปัสสาวะ, คลื่นไฟฟ้าหัวใจ, เอ็กซเรย์ปอด เป็นต้น
  • การประเมินด้านทันตกรรม กรณีที่ต้องให้การรักษาด้วยการฉายแสง (อาจจะประเมินหลังการผ่าตัดก็ได้)
  • การประเมินภาวะทางโภชนาการ
  • การประเมินการพูดและการกลืน (อาจจะประเมินหลังการผ่าตัดก็ได้)
  • การตรวจการได้ยิน กรณีที่มีแผนจะให้ยาเคมีบำบัดที่อาจจะมีพิษต่อประสาทการได้ยิน (อาจจะประเมินหลังการผ่าตัดก็ได้ 

 

ในช่วงรักษาโรคมะเร็งกล่องเสียงหรือภายหลังจากครบการรักษาแล้ว

ควรดูแลตนเอง ดังนี้คือ

การดูแลตนเองในเรื่องทั่วไป

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐานอย่างเคร่งครัด และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด เพราะผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำกว่าคนทั่วไป
  • ไม่กินยาสมุนไพร หรือยาต่างๆ รวมทั้งใช้การแพทย์สนับสนุน และการแพทย์ทางเลือก โดยไม่ปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษาก่อน
  • ดูแล รักษาโรคร่วมต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจ เพราะโรคร่วมเหล่านี้จะมีผลต่อสุขภาพโดยรวม และเป็นปัจจัยให้เกิดผลข้างเคียงระยะยาวจากการรักษาสูงขึ้น
  • พักผ่อนให้เต็มที่ ถ้าอ่อนเพลีย ควรลาหยุดงาน แต่ถ้าไม่อ่อนเพลีย ก็สามารถทำงานได้ แต่ควรเป็นงานเบาๆ ไม่ใช้แรงงาน และสมองมาก และสามารถพักในช่วงกลางวันได้ ควรปรึกษาหัวหน้างาน และเพื่อนร่วมงานเพื่อการปรับตัว
  • ทำงานบ้านได้ตามกำลัง
  • งด/เลิก บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอดชีวิต เพราะมีสารพิษที่เป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งจากการศึกษาสนับสนุนว่า เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งย้อนกลับเป็นซ้ำ และ/หรือของการเกิดโรคมะเร็งชนิดใหม่ (ชนิดที่สอง) ได้ และจำกัดเครื่องดื่มกาเฟอีน
  • มีเพศสัมพันธ์ได้ตามกำลัง ผู้ป่วยหญิงวัยเจริญพันธุ์ ควรยังต้องคุมกำเนิดอยู่ เพราะทารกที่เกิดช่วง 6 เดือนหลังครบการรักษา อาจมีความผิดปกติในการเจริญเติบโตได้ จากสุขภาพมารดาที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทั้งนี้ในเรื่อง วิธี และการคุมกำเนิด และการตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาโรคมะเร็งเสมอ เพราะอาจมีความสัมพันธ์กับการลุกลามหรือการย้อนกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็งได้
  • รู้จักดูแลตนเองในภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา)
  • รักษาสุขภาพจิต ให้กำลังใจตนเอง และคนรอบข้าง มองโลกในด้านบวกเสมอ
  • พบแพทย์ตามนัดเสมอ  

 

* พบแพทย์ก่อนนัด เมื่ออาการต่างๆเลวลง หรือเกิดความผิดปกติผิดไปจากเดิม เช่น การคลำได้ก้อนเนื้อผิดปกติ และ/หรือ มีแผลเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ หรือมีเลือดออกจากเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ หรือเมื่อกังวลในอาการ หรือในโรค

** พบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง หรือฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ เมื่อ มีไข้สูง, ท้องเสีย โดยเฉพาะเมื่อร่วมกับมีไข้, คลื่นไส้ อาเจียนมาก จนกิน ดื่ม ไม่ได้ หรือได้น้อย, ไอมากจนส่งผลกระทบต่อการนอน, หายใจเหนื่อย หอบ, มีเลือดกำเดา  อาเจียน  ไอ  ถ่ายอุจจาระ และ/หรือปัสสาวะเป็นเลือด หรือมีเลือดออกตามเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ, ท่อ หรือสายต่างๆที่มีอยู่หลุด เช่น ท่อให้อาหาร หรือท่อหายใจ, ปวดศีรษะรุนแรง, ชัก, แขน ขาอ่อนแรง ทรงตัวไม่ได้,  อุจจาระ ปัสสาวะไม่ออก ไม่มีปัสสาวะภายใน 6 ชั่วโมง, สับสน ซึม และโคม่า

*** ภายหลังครบการรักษาโรคมะเร็งแล้ว ใน ช่วงระยะแรกประมาณ 4-8 สัปดาห์ ยังถือว่าอยู่ในระยะพักฟื้น ควรค่อยๆปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งในกิจวัตรประจำวัน การทำงาน การออกแรงทั้งหลาย รวมทั้งการออกกำลังกาย  ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ โดยเฉพาะการทำกายภาพฟื้นฟูเนื้อ เยื่อ/อวัยวะต่างๆ และควรกลับไปทำงานตามปกติ เมื่อพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ

 

ที่มา : รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา

Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล