มะเร็งโพรงจมูก

 

มะเร็งโพรงจมูก (Nasopharyngeal carcinoma)

โรคมะเร็งโพรงจมูก (Nasopharyngeal carcinoma) เป็นโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นหลังโพรงจมูกซึ่งอยู่ด้านหลังของจมูกและบริเวณเหนือช่องคอใต้ฐานของสมอง โพรงจมูกจะเป็นทางผ่านเข้าออกของสารบางอย่างที่เข้าสู่ร่างกายของเรา เช่น ควันมลพิษ ควันบุหรี่ 

 


 

สาเหตุของโรคมะเร็งโพรงจมูก 

  • เกิดจากกรรมพันธุ์และเชื้อชาติ ซึ่งโรคมะเร็งโพรงจมูกมักจะพบมากในคนเอเชีย โดยเฉพาะประเทศจีน ฮ่องกง และจะพบในผู้ป่วยเพศชายมากกว่าผู้ป่วยเพศหญิงถึง 3 เท่า
  • เกิดจากเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Ebstein Barr Virus: EBV) หรือสารไนโตรซามีน (Nitrosamines) ซึ่งเป็นสารที่กระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็ง พบมากในใบยาสูบในบุหรี่ อาหารหมักดอง อาหารปิ้งย่าง ปลาเค็ม ปลาร้า ฝุ่นจากโรงงานอุตสาหกรรม สารฟอร์มาดีไฮด์ (Formaldehyde) และควันไฟ 
 

 


 

พยาธิสภาพและระยะของโรคมะเร็งโพรงจมูก

พยาธิสภาพ หรือความผิดปกติของร่างกายเมื่อเกิดโรคมะเร็งโพรงจมูกมักจะเป็นชนิดสเควมัสเซลล์ (Squamous cell carcinoma) ซึ่งเป็นมะเร็งผิวหนังที่พบได้เป็นอันดับ 2 ของโรคมะเร็งผิวหนังทั้งหมด โดยเชื้อมะเร็งโพรงจมูกจะเริ่มเกิดที่ชั้นใต้เยื่อเมือกบริเวณด้านข้างของหลังจมูกและผนังคอด้านหลังก่อน จากนั้นจึงจะลุกลามออกไปส่วนอื่น 

มะเร็งหลังโพรงจมูกแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1 (T1) ก้อนมะเร็งยังอยู่ภายในโพรงจมูกข้างเดียว หรือยังไม่เห็นก้อนเนื้องอก แต่หากมีการตรวจชิ้นเนื้อก็จะได้เป็นผลบวก
  • ระยะที่ 2 (T2) ก้อนมะเร็งอยู่เต็มภายในหลังโพรงจมูกทั้งด้านข้างและด้านหลัง
  • ระยะที่ 3 (T3) ก้อนมะเร็งลุกลามไปถึงช่องจมูกและช่องคอ รวมถึงได้เข้าไปอยู่ภายในโพรงหลังจมูกแล้ว แต่ต่อมน้ำเหลืองข้างคอด้านที่เป็นมะเร็งยังโตไม่เกิน 3 เซนติเมตร
  • ระยะที่ 4 (T4) ก้อนมะเร็งลุกลามไปยังกะโหลกศีรษะ เส้นประสาทสมอง และผู้ป่วยอาจมีภาวะต่อมน้ำเหลืองโตด้วย หรือเชื้อมะเร็งได้กระจายไปสู่อวัยวะอื่นที่อยู่ไกลกว่านั้นแล้ว รวมทั้งกระจายไปยังต่อมข้างคอด้วย

 

การแบ่งลักษณะและขนาดของโรคมะเร็งโพรงจมูก

  • ระยะ N1 หมายถึง ต่อมน้ำเหลืองโตข้างเดียวกับที่เกิดก้อนมะเร็ง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 3 เซนติเมตร 
  • ระยะ N2 หมายถึง ต่อมน้ำเหลืองโตข้างเดียวกับที่เกิดก้อนมะเร็ง อาจโตเพียงก้อนเดียวหรือหลายก้อน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเกิน 3 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 6 เซนติเมตร 
  • ระยะ N3 หมายถึง ต่อมน้ำเหลืองโตมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเกิน 6 เซนติเมตรไปแล้ว

 


 


อาการของผู้ป่วยโรคมะเร็งโพรงจมูก

อาการเบื้องต้นของผู้ป่วยโรคมะเร็งโพรงจมูก จะคล้ายกับอาการหวัด นั่นคือมีอาการ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดว่าไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงและไม่ได้เข้าตรวจรับการวินิจฉัยอย่างละเอียด กว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคมะเร็งโพรงจมูก เชื้อมะเร็งก็ได้ลุกลามไปไกลจนยากแก่การรักษาแล้ว โดยลำดับการเกิดโรคของผู้ป่วยเมื่อเชื้อมะเร็งลุกลามไปแล้ว จะเป็นดังต่อไปนี้

 

  • มีอาการคัดจมูกคล้ายกับเป็นหวัดเรื้อรังรักษาไม่หาย แต่ไม่มีน้ำมูก ต่อมาอาจมีเลือดกำเดาไหล มีมูกปนหนอง มีเสมหะปนเลือดตามมา
  • เมื่อก้อนมะเร็งมีขนาดโตขึ้นจนเข้าไปอุดตันภายในจมูก ผู้ป่วยจะมีเสียงที่เปลี่ยนไป รวมทั้งพูดไม่ชัดในบางคำ โดยเฉพาะคำที่ต้องออกเสียงตัวอักษร “ม” “น” “ง” ซึ่งเป็นอักษรที่ออกเสียงต้องผ่านช่องจมูก
  • ผู้ป่วยจะพบต่อมน้ำเหลืองใต้กกหูโต ต่อมน้ำเหลืองหลังติ่งหูโต มีลักษณะเป็นก้อนแข็ง กดไม่เจ็บ และจะค่อยๆ โตขึ้นเรื่อยๆ อีก 
  • เมื่อก้อนมะเร็งโตมากขึ้นอีก จะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียงหนักขึ้น เช่น
  • รู้สึกปวดร้าวไปที่หู อาจมีอาการหูอื้อข้างเดียวด้วย รวมถึงฟังเสียงไม่ชัด เนื่องจากก้อนมะเร็งที่โตขึ้นได้ไปกดทับรูเปิดของท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube) จนทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการได้ยิน
  • มีน้ำในหูชั้นกลาง ทำให้หูชั้นกลางอักเสบ 
  • อาจมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย เนื่องจากก้อนมะเร็งได้ลุกลามไปกดเส้นประสาทที่ 6 ใต้ฐานสมอง และทำให้ผู้ป่วยมองเห็นภาพซ้อน
  • หนังตาผู้ป่วยตก มีอาการปวดฟัน เป็นอัมพาตในส่วนของกล้ามเนื้อหน้า
  • มีอาการอื่นๆ ตามอวัยวะต่างๆ เช่น อ่อนเพลีย น้ำหนักลด เป็นไข้ ปวดบริเวณบั้นเอว มีอาการไอ หอบ ท้องอืด ตัวเหลือง ตาเหลือง

 

 


 

การวินิจฉัยโรคมะเร็งโพรงจมูก

  • แพทย์จะมีการซักประวัติผู้ป่วยว่ามีอาการปวดศีรษะ คัดจมูก อ่อนเพลีย มีน้ำมูกและมีเลือดกำเดาไหลหรือไม่ หรือผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นและการได้ยินร่วมด้วยหรือไม่
  • มีการตรวจพบก้อนมะเร็ง ต่อมน้ำเหลืองโต น้ำหนักตัวลดลง

ตรวจดูขนาดของก้อนมะเร็งและการลุกลามของมะเร็งโดยการถ่ายภาพรังสีปอด เช่น  

  • การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT Scan (Computerised Tomography)
  • การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI Scan (Magnetic Resonance Imaging) 
  • ตรวจดูชนิดของเซลล์มะเร็งโดยตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy) 
  • ตรวจประเมินดูภาวะซีด เช่น ตรวจเลือดดูระดับฮีโมโกลบิน (Hb) เม็ดเลือดขาว (White Blood Cell: WBC) เม็ดเลือดแดง (Red Blood Cell: RBC) เกล็ดเลือด (Platelets)

 

 


 

 การรักษา 

สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในมะเร็งระยะ 2 และ 3 การใช้รังสีรักษาจะได้ผลดีที่สุด และจะครอบคลุมทั้งก้อนมะเร็งต้นกำเนิดและต่อมน้ำเหลืองที่โต ผู้ป่วยบางรายอาจใช้การฝังแร่ร่วมด้วยหากเป็นในระยะ 3 หรือ 4 หรือมะเร็งลุกลามไปยังบริเวณคอ หรือต่อมน้ำเหลืองโตมากกว่า 6 เซนติเมตรแล้ว และนอกจากการใช้รังสีบำบัดแล้ว แพทย์มักนิยมใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการใช้รังสีรักษา หรือให้ก่อนหรือหลังการใช้รังสีรักษาก็ได้ เช่น ซิสพลาทิน (Cisplatin) ฟลูออโรยูราซิล 5 (5-Fluouracil: 5-FU)  แต่หากผู้ป่วยบางรายเมื่อรักษาด้วยการฉายรังสีแล้วต่อมน้ำเหลืองไม่ยุบลง แพทย์จะรักษาโดยการผ่าตัดเอาต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังมียังมีการรักษาโดยใช้ แสงเลเซอร์พีดีที (Photodynamic Therapy: PDT) โดยแพทย์จะฉีดสารไวแสง (Photesensitizer) เข้าทางหลอดเลือดดำ จากนั้นเซลล์ในร่างกายที่เป็นเซลล์มะเร็งก็จะจับกับสารไวแสงไว้และเรืองแสงเป็นสีแดง (Red flurorescent) ส่วนเซลล์ในร่างกายที่เป็นปกติจะขับสารไวแสงออกไปภายใน 2-3 วัน หลังจากนั้น แพทย์จึงจะยิงแสงเลเซอร์ไปยังเซลล์มะเร็งที่จับกับสารไวแสง ทำให้เซลล์มะเร็งถูกทำลาย ซึ่งข้อควรระวังของการรักษาแบบนี้คือ หลังจากฉีดสารไวแสงแล้ว ผู้ป่วยจะต้องไม่ถูกแสงแดดเป็นเวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์

 

การพยาบาล 

ผู้ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งโพรงจมูกจะต้องคำนึงถึงการช่วยเหลือให้ผู้ป่วยปรับตัวต่อการวินิจฉัยโรคได้ รวมทั้งรู้จักวิธีดูแลผู้ป่วย ในระหว่างที่ผู้ป่วยกำลังได้รับรังสีรักษาและเคมีบำบัด ตลอดจนช่วยเหลือในการปรับตัวต่ออาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการรักษา เช่น 

  • ให้ยาแก้ปวด 
  • ให้อมน้ำยาที่มียาชาไซโลเคน วิสเชียส (Xylocaine viscous) เพื่อบรรเทาอาการปวดบริเวณช่องปากและคอ
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่
  • รักษาความสะอาดในช่องปากโดยให้กลั้วปากและคอด้วยน้ำเกลือ 
  • แนะนำให้ผู้ป่วยจิบน้ำบ่อยๆ หรือใช้น้ำลายเทียมเพื่อลดอาการปากแห้ง ซึ่งอาการปากแห้งจะเกิดได้ตั้งแต่ 2-3 สัปดาห์แรกของการ
  • ฉายรังสีและหลังหยุดฉายรังสีอีกหลายสัปดาห์ 
  • ดูแลให้ผู้ป่วยได้รับน้ำอย่างเพียงพอเพื่อขับเอาเซลล์ที่ถูกทำลายจากการฉายรังสีหรือใช้เคมีบำบัดออกมา 
  • ดูแลให้ผู้ป่วยได้รับอาหารอย่างเพียงพอ หากผู้ป่วยรับประทานอาหารไม่ได้เพราะเจ็บแผนในปากมาก ควรให้อาหารอ่อน รสไม่จัด และให้ยาแก้ปวดกับผู้ป่วยก่อนรับประทานอาหารประมาณครึ่งชั่วโมง หากผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือเบื่ออาหาร อาจต้องให้อาหารทางสายยางหรือทางหลอดเลือดดำแทน

 


 

ที่มา : https://www.honestdocs.co/nasopharyngeal-carcinoma

Nasopharyngeal Cancer: Background, Pathophysiology, Epidemiology. Medscape. (https://emedicine.medscape.com/article/988165-overview)

What Is Nasopharyngeal Cancer?. American Cancer Society. (https://www.cancer.org/cancer/nasopharyngeal-cancer/about/what-is-nasopharyngeal-cancer.html)

Nasopharyngeal Cancer Treatment (Adult) (PDQ®)–Patient Version. National Cancer Institute. (https://www.cancer.gov/types/head-and-neck/patient/adult/nasopharyngeal-treatment-pdq)

Nasopharyngeal Cancer: Symptoms, Causes, and Treatment (https://www.webmd.com/cancer/nasopharyngeal-cancer#1)

Nasopharyngeal carcinoma - Symptoms and causes. Mayo Clinic. (https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/nasopharyngeal-carcinoma/symptoms-causes/syc-20375529?page=0&citems=10)

cancer.gov, Nasopharyngeal carcinoma (https://www.cancer.gov/types/head-and-neck/patient/adult/nasopharyngeal-treatment-pdq)

ncbi.nlm.nih.gov, Nasopharyngeal carcinoma (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1559589/)

webmd.com, Nasopharyngeal carcinoma (https://www.webmd.com/cancer/nasopharyngeal-cancer#1)

mayoclinic, Nasopharyngeal carcinoma (https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/nasopharyngeal-carcinoma/symptoms-causes/syc-20375529)

nhs.uk, Nasopharyngeal cancer (https://www.nhs.uk/conditions/nasopharyngeal-cancer/), 10 August 2018

ncbi.nlm.nih, Nasopharyngeal carcinoma (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1559589/)

mayoclinic, Nasopharyngeal carcinoma (https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/nasopharyngeal-carcinoma/symptoms-causes/syc-20375529), Aug. 17, 2018

Dry mouth or xerostomia. Cancer.Net. https://www.cancer.net/navigating-cancer-care/side-effects/dry-mouth-or-xerostomia.

Hui EP, et al. Treatment of early locoregionally advanced nasopharyngeal carcinoma. https://www.uptodate.com/contents/search.

Hui EP, et al. Epidemiology, etiology and diagnosis of nasopharyngeal carcinoma. https://www.uptodate.com/contents/search.

Nasopharyngeal cancer: Treatment options. Cancer.Net. https://www.cancer.net/cancer-types/nasopharyngeal-cancer/treatment-options.

Nasopharyngeal cancer treatment (PDQ). National Cancer Institute. https://www.cancer.gov/types/head-and-neck/hp/adult/nasopharyngeal-treatment-pdq.

Head and neck cancers. Fort Washington, Pa.: National Comprehensive Cancer Network. http://www.nccn.org/professionals/physician_gls/f_guidelines.asp.

Flint PW, et al. Benign and malignant tumors of the nasopharynx. In: Cummings Otolaryngology: Head & Neck Surgery. 6th ed. Philadelphia, Pa.: Saunders Elsevier; 2015. https://www.clinicalkey.com.